ผลบวกบาทอ่อน-วิกฤตอาหาร สรท.คาดส่งออกปี 66 โต 2-5% ปี 65 มีลุ้นแตะ 9%

เรื่องที่น่าสนใจ เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยปี 66 จะเติบโตได้ 2-5% โดยปัจจัยหลักคือต้องเฝ้าระวังเศรษฐกิจโลกหดตัวในปีหน้า ซึ่งมองว่าจะไม่มากไปกว่าไตรมาส 4/65, ติดตามค่าเงินบาทอ่อน โดยคาดว่าจะอ่อนค่าในระดับกลางประมาณ 36-38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ, ต้นทุนสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และค่าแรง อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง คาดอยู่ที่ระดับ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่สถานการณ์ค่าระวางก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเส้นทางหลัก ส่วนปัญหาราคาวัตถุดิบผันผวน ถึงแม้ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์จะบรรเทาลงบ้าง แต่ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ยังห่วงเรื่องการส่งออกในปีหน้า เพราะการส่งออกในปีนี้ปริมาณไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ราคาวัตถุดิบและราคาขายส่งเพิ่ม จึงเพิ่มราคาต่อหน่วย รวมๆ มองดูแล้วเศรษฐกิจของตลาดหลักยังชะลอตัว ต้องรอดูไตรมาส 4 ของปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร จึงประมาณการณ์ปีหน้าเบื้องต้นไว้ที่ 2-5% ก่อน จากการคำนวณรายสินค้า

ขณะที่ทั้งปี 2565 คาดการส่งออกจะเติบโต 8% และมีโอกาสไปแตะ 9% ได้ หากไตรมาส 4 ปีนี้การส่งออกยังมีทิศทางที่เติบโตได้ต่อเนื่อง และไม่มีผลกระทบเพิ่มเติมมากกว่านี้ อย่างไรก็ดี ถ้าจะให้การส่งออกแตะถึง 10% ต้องอาศัยการเติบโตด้านเศรษฐกิจและการส่งออกมากกว่านี้ ซึ่งมองว่ากรณีนี้เป็นไปได้ปานกลางถึงน้อย ทั้งปีการส่งออกมีลักษณะพอเคลื่อนไปได้ เป็นไปได้สูงมากๆ ที่จะโต 8% และถ้าไตรมาส 4/65 โตประมาณ 5% ก็มีโอกาสที่ส่งออกทั้งปีจะโตแตะ 9% ได้

สำหรับปัจจัยหนุนที่สำคัญของปี 2565 คือ 1.ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) สูงได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯและตะวันออกกลาง 2.สถานการณ์วิกฤตอาหารทั่วโลก ส่งผลให้สินค้าไก่ (แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป) และอาหารกระป๋องแปรรูปของไทย ส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงสินค้าข้าวด้วย

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2565 ได้แก่ 1.สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าสำคัญ มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้อุปสงค์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยังทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากเงินทุนที่มีแนวโน้มจะเคลื่อนย้ายไหลเข้าสหรัฐฯ เนื่องจากดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น 2.ดัชนีภาคการผลิต หรือ Manufacturing PMI ในประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป จีน และเกาหลีใต้ เริ่มส่งสัญญาหดตัวลดลงเล็กน้อยในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.65

3.ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากโอเปกพลัส (OPEC+) เล็งปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและต้นทุนในการดำรงชีวิตภาคครัวเรือน ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง 4.ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน ปุ๋ย เป็นต้น 5.สถานการณ์การขาดแคลนชิปเริ่มคลี่คลายในช่วงเดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในภาคการผลิตที่มีชิปเป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ฯลฯ ประกอบกับกฎหมาย CHIPS and Science Act of 2022 ของสหรัฐฯ กดดันจีนต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในอนาคต

“ปัจจัยภาคการผลิตของประเทศคู่ค้า เริ่มส่อสัญญาณลดลง ภาพรวมเศรษฐกิจซบเซา ตลาดหลักเริ่มมีปัญหา ตลาดที่พอจะไปได้คืออาเซียน และตะวันออกกลางที่น่าสนใจ ไทยจึงยังมีประเทศรองที่ช่วยสนับสนุน ผลิตภัณฑ์ธุรกิจอาหารยังมีแรงขับเคลื่อน”

สำหรับภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนก.ย. 65 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,919.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 7.8% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 888,371 ล้านบาท ขยายตัว 16.4% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนก.ย.ขยายตัว 9.0%) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,772.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 15.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 929,732 ล้านบาท ขยายตัว 24.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนก.ย.65 ขาดดุลเท่ากับ 853.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเท่ากับ 41,361 ล้านบาท

“การส่งออกในเดือนก.ย.ยังพอไปได้ กลุ่มสินค้าที่ช่วยในไตรมาสหลังคือ ยานยนต์ การนำเข้ามีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะทุนและวัตถุดิบ ดังนั้น ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ว่าการส่งออกดี ส่วนวิกฤติต่างๆทั่วโลกยังอยู่ ปัจจัยภายนอกยังมีผลกระทบรุนแรงและต่อเนื่อง เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าไทย ส่วนเรื่องค่าระวางเริ่มดีขึ้น”

ส่วนภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนม.ค.-ก.ย.65 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 221,366 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,523,817 ล้านบาท ขยายตัว 21.3% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงม.ค.-ก.ย.65 ขยายตัว 8.6%) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 236,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 20.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,148,602 ล้านบาท ขยายตัว 32.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนม.ค.-ก.ย.65 ขาดดุลเท่ากับ 14,984.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 624,785 ล้านบาท

ทั้งนี้สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญได้แก่ 1.เร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่สำคัญ เช่น ไทย-ยุโรป, ไทย-อังกฤษ และตลาดรองอื่น เพื่อเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันภาคส่งออก และดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศในระยะยาว 2.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อประคองการฟื้นตัวภาคธุรกิจ และไม่เป็นการซ้ำเติมรายจ่ายของผู้บริโภค และต้นทุนของผู้ประกอบการมากเกินไป 3.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายลำ (Transshipment) รวมถึงเร่งทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ชัดเจน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรับส่งสินค้าของอาเซียน (ASEAN Logistic Hub) เพื่อดึงดูดเรือแม่เข้ามาให้บริการแบบขนส่งตรง (Direct Call) มากขึ้น ผู้ประกอบการไทยสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าระวางเรือให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้