20 โบรกเกอร์อ่วม! รับภาระจ่ายค่า “หุ้น MORE” 4.5 พันล้าน

เรื่องที่น่าสนใจ เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

วงการโบรกเกอร์ป่วน เร่งหาทางเคลียร์ค่า “หุ้น MORE” 4.5 พันล้านบาท ที่ครบกำหนดเคลียริ่งในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย.นี้ หลังกระแสหนาหู นายป. ผู้ซื้อจะชิ่ง ไม่ยอมจ่ายค่าหุ้นตามกำหนด

วงการโบรกเกอร์กำลังปั่นป่วนเร่งหาทางออก ในการชำระราคาค่าหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น MORE เกือบ 4.5 พันล้านบาทให้กับลูกค้าที่จะเกิดขึ้นในเวลา 12.00 น.ของวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. สำหรับโบรกเกอร์ฝั่งซื้อ และเวลา 15.00 น. สำหรับโบรกเกอร์ฝั่งขาย

ผลจากรายการซื้อขายหุ้น MORE เมื่อวันพฤหัสบดี (10 พ.ย.) ที่ผ่านมาที่ MORE มีการตั้งคำสั่งซื้อ(ATO) ที่ราคา 2.90 บาท มีปริมาณการซื้อขายที่ 1,531.77 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4,442.13 ล้านบาท ก่อนจะถูกถล่มติดฟลอร์สนิทตั้งแต่เวลาประมาณ 11.30 น. และต่อเนื่องถึงเช้าวันศุกร์ที่ติดฟลอร์ตั้งแต่เปิดการซื้อขายที่ราคา 1.37 บาท

รายการซื้อขายหุ้น MORE ที่เกิดขึ้นในปริมาณที่มาก ซึ่งกรณีปกติแบบนี้จะเป็นรายการซื้อขายรายใหญ่(บิ๊กล็อต) ทำให้โบรกเกอร์ที่รับคำสั่งซื้อเริ่มรู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นและเริ่มตรวจสอบโบรกเกอร์ด้วยกันจึงรู้ว่า คำสั่งซื้อ ATO ที่ 2.90 บาท กระจายจากโบรกเกอร์ ประมาณ 14-20 ราย เพราะเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)กำหนดว่า ลูกค้าแต่ละรายไม่สามารถสั่งซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งในแต่ละครั้งได้เกิน 20 ล้านหุ้นได้

จากการตรวจสอบพบว่า คำสั่งซื้อ ATO ที่ 2.90 บาทมาจากบัญชีคนเดียวกันคือ นาย ป. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรกของ MORE ด้วย ขณะที่คำสั่งขายพบว่า มาจากเสี่ย ม. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ MORE เช่นกัน

 

ราคาหุ้นของ MORE ถูกลากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากที่ระดับราคา 0.30 บาทจนขึ้นมาเกือบ 3 บาทส่วนหนึ่งถูกมอง เป็นการดำเนินการของขาใหญ่ เพื่อเตรียมการในการแปลงวอแรนต์ MORE-W2 ซึ่งมีราคาใช้สิทธิ์ที่ราคา 2.00 บาท/หุ้น เพื่อดึงดูดใจให้มีนักลงทุนยอมจ่ายเงิน เพื่อแปลงสิทธิ์วอแรนท์เป็นหุ้นเพิ่มทุน เพราะคาดหวังกำไรจากส่วนต่างที่เพิ่มจากราคา 2.00 บาท ที่จ่ายไป และในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(31 ต.ค.-4 พ.ย.65) จากตัวเลขการซื้อ-ขายหุ้นไทยสุทธิสะสมในบัญชีเอ็นวีดีอาร์ (NVDR) หุ้น MORE ยังเป็นหุ้นที่มีการซื้อสูงสุดที่ 1,204 ล้านบาท

 

บัญชี NDVR ซึ่งทั่วไปรับทราบว่าเป็นบัญชีซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ พบว่า หุ้น MORE ยังเป็นหุ้นที่มีการซื้อสูงสุดที่ 1,204 ล้านบาท แต่จากการตรวจสอบรายชื่อใน NDVR พบว่า รายชื่อผู้ถือใหญ่ 3 อันดับแรกคือ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ 306.87 ล้านหุ้น สัดส่วน 4.70% นายเอกภัทร พรประภา 160.52 ล้านหุ้น สัดส่วน 2.48% นายอธิภัทร พรประภา 139.02 ล้านหุ้น และนายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนา 97.46 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.49% ซึ่งทั้ง 1 ใน 3 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ MORE อีกด้วย

20 โบรกเกอร์อ่วม! รับภาระจ่ายค่า “หุ้น MORE” 4.5 พันล้าน

แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์กล่าวว่า วันศุกร์ที่ผ่านมา( 11 พ.ย.) ตัวแทนโบรกเกอร์ได้เข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อร่วมหาทางออกและให้คำสั่งซื้อดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะเห็นว่า หุ้น MORE มีสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ ซึ่ง AI ของตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะตรวจจับได้ แต่ทางกลต.มองว่า เป็นความประมาทเลินเล่อของโบรกเกอร์ หากทำให้รายการเป็นโฆฆะ จะกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายอื่นๆที่ทำรายการด้วย

 

“เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะไม่เคยมีใครที่จะคิดปล้นกลางแดดแบบนี้ ที่มาทำรายการซื้อขาย และจะชิ่งไม่ยอมจ่ายเงิน โดยทิ้งภาระให้เป็นหน้าที่ของโบรกเกอร์ที่ต้องทำหน้าที่ในการเคลียริ่งหุ้นในวันที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด(T+2) และเท่าที่ดูเราก็เห็นแล้วว่า นาย ป.ไม่สามารถชำระค่าหุ้นในวันเดียวกันที่ 4.5 พันล้านบาทได้อยู่แล้ว”แหล่งข่าวกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม การตั้งคำสั่งซื้อ ATO จะไม่สำเร็จ ถ้าไม่มีขบวนการร่วมด้วย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเริ่มต้นของเฮีย ม. ที่สั่งการให้นาย ป. ซึ่งเคยเป็นมาร์เก็ตติ้งโบรกเอร์แห่งหนึ่งที่ดูแลหุ้น MORE ไปไล่เปิดพอร์ตลงทุนกับโบรกเกอร์หลายแห่งทั้งพอร์ตบัญชีเงินสด(Cash Balance) และบัญชีมาร์จิ้น (Margin) ด้วยการใช้วิธีนำหุ้นในพอร์ตของบริษัทอื่นมาค้ำประกัน แต่ส่วนใหญ่หุ้นในพอร์ตก็จะเป็นหุ้น MORE เป็นหลักเพื่อต้องการเปิดวงเงินระดับสูง 300-500 ล้านบาท

 

“คนที่ตั้งคำสั่งซื้อ ATO คาดว่า เป็นคนเพียงคนเดียว แต่ตั้งตัวแทนหรือนอมินี กระจายเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นตามโบรกเกอร์ประมาณ 14-20 แห่ง โดยนำหุ้น MORE เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งอาจนำหุ้น MORE จำนวน 50 ล้านหุ้น แต่สามารถใช้มาร์จิ้น หรือใช้วงเงินสินเชื่อซื้อหุ้นได้จำนวน 150 ล้านหุ้น ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะปล่อยให้คนที่ไม่หวังดีใช้กลไกหุ้นมาหาผลประโยชน์แล้วลอยนวล”แหล่งข่าวกล่าว

 

 

ดังนั้นในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. 2565 นี้ หากผู้ส่งคำสั่งซื้อ ไม่สามารถนำเงินมาชำระเงิน (เคลียร์ริ่ง) ที่จะครบดีล T+2 ได้ โบรกเกอร์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบธุรกรรมครั้งนี้ทั้งหมด ซึ่งบางโบรกเกอร์สูงเกือบ 1,000 ล้านบาท นั่นแปลว่าความเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับโบรกเกอร์ทันที