สัญญาณเตือน! นักกอล์ฟสูงวัยให้เร่งไปเช็คสมอง

เรื่องที่น่าสนใจ

คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี [email protected]

เช้าตรู่ที่คลับเฮาส์เดิม…

“พี่หมอๆระวังโดนหางเลขนะ วันนี้เฮียแกอารมณ์ไม่ดี!” เจ้าเก่งกระซิบบอกขณะพี่หมอจะเดินไปทักทายคุณชูสง่าหัวหน้าก๊วน “เรื่องอะไรว๊ะเก่ง…หรือน้องมายด์แคดดี้คนสวยของแกออกไปกับก๊วนอื่น?” “เปล่าพี่หมอ…เฮียแกหยิบถุง(กอล์ฟ)ผิดมา ไม่มีไม้ตีไกลที่แกใช้ประจำ แถมยังลืมหมวกลืมแว่น หาอะไรไม่เจอหลายอย่างเลยพาลพาโลลมเสีย…นี่ให้น้องมายด์ปลอบอยู่” “เออ…ระยะหลังเฮียแกลืมบ่อยนะ บางทีขับรถเลยสนามเฉยเลย…สงสัยต้องจับไปตรวจสมองซะทีแล้ว”

ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง การเสื่อมหรือถดถอยของการทำงานของสมอง ทำให้มีความผิดปกติของสติปัญญา ความคิด ความจำ การตัดสินใจ พฤติกรรม หรือบุคลิกภาพ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

ผู้สูงอายุอาจมีความสามารถของสมองเสื่อมถอยตามวัยเป็นปกติ เช่น สมาธิลดลง การมีใจจดจ่อลดลง จดจำชื่อคนไม่ได้ หาของไม่เจอ แต่จะไม่ลืมเรื่องราวสำคัญที่เพิ่งเกิดขึ้น และยังสามารถทำกิจวัตรดูแลตนเองได้เป็นปกติ ความสามารถในการรู้คิด (Cognition) คือความสามารถของสมองในการรับรู้จัดการกับข้อมูล หรือสิ่งกระตุ้นเพื่อให้การตอบสนองได้อย่างเหมาะสม

-สมาธิ และการมีใจจดจ่อ

-ความจำ และความสามารถในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ

-ความสามารถด้านภาษา

-การรับรู้ต่อมิติสัมพันธ์ เช่น การวาดภาพเชิงซ้อน จดจำใบหน้าบุคคล การรับรู้ทิศทาง จำสถานที่ ตำแหน่งที่วางของไว้

-ความสามารถในการบริหารจัดการ การวางแผน การตัดสินใจ

-การรับรู้เกี่ยวกับสังคมรอบตัว การควบคุมพฤติกรรม

MCI สัญญาณเตือนก่อนภาวะสมองเสื่อม

ผู้ที่มีความสามารถของสมองหรือมีความสามารถในการรู้คิด เสื่อมถอยลงอย่างน้อย 1 ใน 6 ด้าน ของพุทธิปัญญาข้างต้น ท่านอาจเสี่ยงต่อการมีภาวะความสามารถของสมองบกพร่องเล็กน้อย หรือ Mind Cognition Impairment (MCI) อาการสัญญาณเตอนอันได้แก่

-มีปัญหาการใช้สมาธิจดจ่อ

-มีปัญหาด้านความไว ของขั้นตอนความคิด

-มีปัญหาด้านทิศทาง เส้นทาง และมิติสัมพันธ์

-ความจำระยะสั้นไม่ดี

-มีปัญหาด้านการใช้ภาษา

-มีความยากลำบากเมื่อทำงานที่ซับซ้อน

-มีความผิดปกติของอารมณ์และบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป

-ทักษะการแก้ปัญหาลดลง

หากพบอาการแบบนี้บ่อยๆ หรือเป็นมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน และต้องการความช่วยเหลือจากผู้ดูแล ก็เข้าข่ายเป็นภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เมื่อคุณรู้สึกว่ามีความจำแย่ลง หรือคนในครอบครัวเพื่อนสนิทสังเกตเห็นได้ ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที และอาจแก้ไขสาเหตุซึ่งจะทำให้ความจำกลับมาเป็นปกติได้ในผู้ป่วยบางราย

สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ ศูนย์ฝึกสมอง (Cognitive Fitness Center) รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย