บล.กสิกรไทย คาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้าแกว่ง 1,650-1,680 จุด แนะซื้อ “ORI-BAM”

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

บล.กสิกรไทย ประเมินหุ้นไทยสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,650-1,680 จุด มองตลาดยังผันผวน พร้อมแนะนำ 2 หุ้นเด่นน่าลงทุน “ORI” มองกำไรปี 64 เติบโต 20% รับอานิสงส์จากธุรกิจใหม่และแรงหนุนจากบริษัท JV, “BAM” หลังธปท. ส่งเสริมธนาคารพาณิชย์ร่วม JV กับบริษัท AMC

บล.กสิกรไทย ประเมินตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ (7-11 ก.พ.) จะแกว่งในกรอบ 1,650-1,680 จุด ทั้งนี้ ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายตลาดผันผวนสูง

ขณะที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ออกมาตามคาด โดย ECB ยังจะคงดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีนี้ ขณะที่ BOE ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.50% ตามคาด อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บางส่วนไม่เห็นด้วยกับท่าที ECB ที่เพิกเฉยต่อเงินเฟ้อที่พุ่งสูงและกังวลว่า ECB จะยิ่ง Behind the curve และต้องหันมาเร่งดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดในระยะต่อไป

โดย ECB ยังคงดอกเบี้ยนโยบายระดับเดิม ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% และจะเริ่มลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ในเดือนมี.ค.

ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยคาดว่าจะยังไม่ขึ้นตลอดทั้งปืนี้ตามแผนเดิมหรือจนกว่าโปรแกรมการเข้าซื้อสินทรัพย์จะจบลงก่อน ถึงแม้รายงานตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดที่ออกมา 5.1% YoY จะสูงสุดเป็นประวัติการณ์และสูงกว่าเป้าหมายก็ตาม

ในทางตรงข้าม BOE มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.50% ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือนเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2004

ด้านดัชนี Fear & Greed Index ล่าสุดพบว่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 32 จุดแสดงถึงนักลงทุนกลัวต่อการลงทุนช่วงนี้ (ต่ำกว่าระดับ 50 จุดแสดงถึงนักลงทุนกลัว, สูงกว่าระดับ 50 จุดแสดงถึงนักลงทุนกล้า) ส่วนดัชนี VIX index พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 24.35 จุด แสดงถึงสภาวะตลาดที่ยังผันผวนสูง

ขณะที่ AAII Investor survey ผลสำรวจ sentiment นักลงทุนรายย่อยของสหรัฐ มีมุมมอง Bullish ตลาดหุ้นเพียง 26.5% และมองตลาด Bearish สูงถึง 43.7% แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อยสหรัฐฯยังอยู่ในระดับต่ำ จากดัชนีวัด sentiment ต่างๆ บ่งชี้ว่าตลาดยังมีความผันผวนสูงในระยะสั้น นักลงทุนสายโมเมนตัมอาจต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น

ส่วนที่ต้องรอติดตาม คือ ตัวเลขเงินเฟ้อจะรายงานออกมาในสัปดาห์หน้า (10 ก.พ.) ซึ่งมองว่าการรายงานออกมาชะลอตัวกว่าที่ตลาดคาดอย่างมีนัยยะมีความเป็นไปได้ต่ำ ดังนั้นภาพการลงทุนเรายังคงมองว่าการทำ sector rotation growth to value จะยังดำเนินต่อไปในระยะข้างหน้า

 

โดยมีหุ้น (Top Picks) แนะนำ ดังนี้

– ORI (ราคาพื้นฐาน 13.40 บาท) คาดรายงบ 4Q21 +25.7% YoY และ 13.9% QoQ ทำให้กำไรปี 64 เติบโต 20% ธุรกิจใหม่ที่มีมูลค่าสูงและแรงหนุนจากบริษัท JV ใหม่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต ขณะที่เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยสนับสนุนการเติบโตธุรกิจที่อยู่อาศัย

– BAM (ราคาพื้นฐาน 24.00 บาท) คาด 4Q21 เติบโตทั้ง YoY และ QoQ จากการเก็บเงินสดได้สูงขึ้นและการขาย NPA/NPL ก้อนใหญ่ เรามีมุมมองเชิงบวกต่ออุตสาหกรรม AMCs มากขึ้นหลัง ธปท. ส่งเสริมธนาคารพาณิชย์ร่วม JV กับบริษัท AMC ซึ่งเราคาดว่าทางบริษัทจะได้ประโยชน์จากการที่เป็นบริษัทชั้นนำและมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรม

 

ประเด็นเศรษฐกิจที่น่าติดตาม

-7 ก.พ. : ดัชนี PMI ภาคการบริการของจีนจากสถาบัน Caixin (ม.ค.)

-8 ก.พ. : ดัชนีการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (ปีต่อปี) (ธ.ค.) ญี่ปุ่น ตลาดคาด 0.3%, ดัชนีการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (เดือนต่อเดือน) (ธ.ค.) ญี่ปุ่น ตลาดคาด 0.7%

-9 ก.พ. : ยอดขายการค้าส่ง (เดือนต่อเดือน) (ธ.ค.) US ตลาดคาด 1.5%

-10 ก.พ. : ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) (เดือนต่อเดือน) (ม.ค.) US ตลาดคาด 0.5%, ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) (ปีต่อปี) (ม.ค.) US ตลาดคาด 5.9%

-11 ก.พ. : การคาดการเงินเฟ้อระยะ 5 ปีของมิชิแกน (ก.พ.)

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business