ปลัดสาธารณสุขแจง โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่นได้ เมื่อความรุนแรงของโรคลดลง ประชาชนมีภูมิต้านทานจำนวนมาก และระบบบริหารจัดการดูแลมีประสิทธิภาพ ขอความร่วมมือฉีดวัคซีน โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น ป้องกันตนเองเคร่งครัด
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 65 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยเริ่มทรงตัว หลังจากมีการติดเชื้อสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ภายในปี 2565 นี้ โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ
1.ตัวเชื้อโรคมีความรุนแรงลดลงซึ่งสอดคล้องกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ ที่เชื้อมีความรุนแรงลดลง เห็นได้จากแม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตมีทิศทางลดลง
2.ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อโรคมากขึ้น
3.ระบบบริหารจัดการ การดูแลรักษา ที่มีประสิทธิภาพ และควบคุมการระบาดได้ดี
ทั้งนี้ การที่โรคโควิด 19 จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุขจะพยายามชะลอการระบาดของโรค พร้อมไปกับการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน จึงขอให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและผู้ที่ถึงกำหนดรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ติดต่อขอรับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด
นอกจากนี้ขอให้ยังคงเคร่งครัดมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ใส่หน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง ตรวจคัดกรองด้วย ATK เมื่อมีความเสี่ยง ส่วนสถานประกอบการต้องเข้มการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting
“ที่สำคัญคือต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อครั้งนี้โรคโควิด 19 เปลี่ยนไปจากเดิม มีความรุนแรงลดลง ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก รูปแบบการดูแลรักษาจึงต่างจากการระบาดระลอกก่อน โดยเปลี่ยนมาใช้การดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หรือในชุมชน (Community Isolation) เป็นลำดับแรก มียา เวชภัณฑ์ มีทีมบุคลากรสาธารณสุขติดตามอาการต่อเนื่อง และมีการเตรียมเตียงในโรงพยาบาลไว้รองรับหากอาการมากขึ้นพร้อมส่งต่อทันที จึงวางใจได้ว่าหากติดเชื้อก็ยังได้รับการดูแลตามมาตรฐานเช่นเดิม” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สำหรับการระบาดของโรคติดต่อ มี 4 ระดับ ได้แก่
1. โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่ อาจเป็นเมือง ประเทศ กลุ่มประเทศ หรือทวีป มีอัตราป่วยคงที่และคาดการณ์ได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออกในประเทศไทย
2.การระบาด (Outbreak) คือ เหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทั้งกรณีโรคประจำถิ่นที่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คาดการณ์ หรือกรณีที่เกิดโรคอุบัติใหม่
3.โรคระบาด (Epidemic) คือ มีการแพร่กระจายโรคกว้างขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์อย่างฉับพลัน จำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ได้
4.การระบาดใหญ่ (Pandemic) คือ ระดับการระบาดที่แพร่ไปทั่วโลก เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดคือการระบาดของโรคโควิด 19
อ้างอิง
https://www.posttoday.com